Thursday, October 2, 2014

สร้างสวนลอยฟ้า



บ้านพักอาศัยที่เป็นตึกแถวจะมีพื้นที่ที่จำกัด นอกจากสวนหน้าบ้านที่พอจะจัดสวนได้บ้างแล้ว ก็มีบริเวณดาดฟ้าที่สามารถจัดสวนได้อย่างเต็มที่ การจัดสวนดาดฟ้าก่อนอื่นควรเตรียมเรื่องของการรับน้ำหนักสำหรับการจัดสวน ตั้งแต่แรก โดยวางคอนเซ็ปต์ว่าต้องการสวนแบบใด เช่น สวนที่สามารถใช้งานอย่างอื่นได้ หรือเป็นสถานที่สำหรับนั่งหรือเดินเล่นชมสวน หลังจากนั้นให้กันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับปลูกต้นไม้เสียก่อน อาจต่อเติมระแนงไม้สำหรับปลูกไม้เลื้อยเพื่อบังส่วนที่ไม่น่าดู จะทำให้สวนเป็นสัดส่วนและน่ามองมากขึ้น หรืออาจจัดเป็นสวนกระถาง จัดลงกระบะสำหรับปลูกเฟื่องฟ้า ทำบ่อบัว จัดวางโอ่งสีสันสดใส เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายสับเปลี่ยน ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนเป็นสวนบนดินได้เช่นเดียวกัน



การปรับปรุงระบบเพื่อรองรับสวนดาดฟ้า

การปลูกต้นไม้บนอาคารต่างๆ ต้องระลึกไว้เสมอว่าต้นไม้ทุกชนิด ต้องการน้ำ และการบำรุงรักษา ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือ

- เตรียมแหล่งน้ำที่จะใช้รดต้นไม้ ต้องต่อท่อเตรียมก๊อกน้ำ เอาไว้รดน้ำเพื่อความสะดวก ถ้าเป็นไปได้ การเก็บกักน้ำจากน้ำฝนไว้ใช้ได้จะยิ่งดี เพราะดาดฟ้ารับน้ำฝนได้โดยตรง ถ้าปล่อยทิ้งไปเสียก็จะเสียของไปเปล่าๆ

- เมื่อเรารดน้ำแล้ว น้ำที่ไหลออกจากกระถางต้นไม้ หรือกระบะจะไปทางไหน หากน้ำไม่มีทางออก รากก็จะเน่าตาย จึงต้องเตรียมระบบระบายน้ำไว้ให้ดี ซึ่งจะไม่เหมือน การระบายน้ำทั่วไป เพราะการรดน้ำต้นไม้ จะมีเศษดิน ทราย ตามออกมาด้วย หากน้ำออกไปลงท่อระบายทั่วไป ที่ไม่ได้กันหรือเตรียมการไว้ เพื่อกันเศษดิน ท่อก็จะตัน (แล้วน้ำก็จะท่วม)

- โครงสร้างที่รองรับต้นไม้ เช่นระแนงไม้เลื้อย เป็นทางออกอย่างหนึ่ง ในกรณีที่เราต้องการร่มเงาของต้นไม้มากขึ้น ที่ต้นไม้กระถางมีไม่พอ โครงสร้างระแนงนี้สามารถต่อเติมได้ โดยวางบนตำแหน่งเสาคานเดิม ก็จะไม่ต้องห่วงเรื่องน้ำหนักพื้นที่ต้องรองรับกระถางต้นไม้

- ระบบ พื้นถ้าโครงสร้างแข็งแรงพอ ควรจะปู roof slab เป็นคล้ายกระเบื้องปูพื้น แต่มีขาหนุนกระเบื้องให้ลอยจากพื้น จะทำให้พื้นมีการระบายน้ำได้ดี และช่วยลดอุณหภูมิของห้องด้านล่าง ได้ดีอีกด้วย เป็นของแถม เพราะปกติห้องชั้นบนสุดจะร้อนระอุมากจากแสงแดด เมื่อปูพื้นนี้แล้ว จะเย็นโดยอัตโนมัติเลย



สิ่งที่ต้องคำนึงถึง

- ดาด ฟ้าควรใช้ไม้กระถางมากกว่าทำกระบะต้นไม้ เพราะนอกจากจะมีน้ำหนักมากแล้ว กระบะต้นไม้จะต้องมีความชื้น หากกระบะต้นไม้ ใช้ผนังเดียวกับผนังห้อง ความชื้นก็จะซึมผ่านผนัง ไปทำให้ผนังอีกด้านชื้น เกิดราหรือสีลอก ดังนั้น ถ้าจะใช้กระบะต้นไม้ ควรทำแยกผนังออกจากผนังห้อง และใส่น้ำยากันซึมในปูนฉาบ ฉาบด้านในกระบะ ส่วนเรื่องการปลูกไม้กระถาง ตามอ่านในเรื่อง การปลูกไม้กระถางต่อไปนะครับ



- ในการบำรุงรักษา หากต้นไม้ตาย หรือต้องการเปลี่ยนต้นไม้ ต้องมีพื้นที่เพียงพอสำหรับทำงาน ในแง่ความปลอดภัย อย่าวางกระบะต้นไม้ หรือกระถางที่ต้องเอื้อมตัวออกนอกตึกมากนัก หรือต้องใช้บันไดพาดไปทำงาน (บนตึกสูงๆ) เพราะอาจพลาดพลั้งได้

- การปลูกต้นไม้บนตึกสูง จะต้องคิดถึงเรื่องลมที่จะพัดแรงกว่าบนพื้นดิน ทำให้ต้นไม้ของท่านหักโค่นหรือล้ม (และอาจจะหล่นลงมาข้างล่างทำอันตรายผู้อื่น) การใช้กระถางควรต้องเลือกขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากหน่อย เพื่อถ่วงแรงลม

ส่วนการขนต้นไม้หรือดิน ปุ๋ย ในครั้งแรก ก็คงต้องเหนื่อยเป็นพิเศษ แต่เมื่อจัดเสร็จครั้งแรกแล้ว การบำรุงรักษาก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก



หลักการจัดสวนบนอาคาร



โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. สวนกระถางนอกระเบียง



พื้นที่ ระเบียง มีข้อจำกัดในการจัดสวนหลายอย่าง ทั้งพื้นที่ที่ส่วนมากจะแคบและยาว รับน้ำหนักมากๆไม่ได้ บางครั้งมีชายคาเป็นตัวกำหนดความสูงของต้นไม้ และเป็นทางผ่านของแสงเข้ามาสู่ภายในห้อง (ปลูกต้นไม้ทึบมาก ห้องจะมืด) การจัดสวนกระถางบนระเบียง จำนวนของไม้กระถางจึงต้องพอดีกับขนาดพื้นที่ และไม่ควรเลือกต้นไม้ที่กินพื้นที่ทางกว้างมาก ที่เหลือก็แค่กำหนดรูปแบบการใช้งานให้ชัดเจน ว่าจะใช้นั่งนอนเอกเขนก แค่นั่งชมวิวชั่วครู่ หรือ แค่มีไว้ชื่นชมจากในห้อง เพื่อให้สวนกระถางบนระเบียงตอบสนองความต้องการได้ตรงประเด็น



ปลูกต้นอะไรดี

ไม้กระถางที่เหมาะ กับสวนกระถางบนดาดฟ้า ควรมีผิวสัมผัสใบละเอียดเล็ก ดูนุ่มสบายตา และไม่ฉีกขาดง่ายอันเนื่องมาจากสภาพลมแรง เป็นไม้ทนแดด และไม่ต้องการน้ำมากนัก ต้นไม้เหล่านี้มีทั้งไม้ใบ เช่น ไทร สน ปาล์ม จันทน์ผา จันทน์หอม และไม้ดอกมีกลิ่นหอม อย่างเช่น โมก แก้ว ลั่นทม ชวนชม



2. สวนกระถางบนดาดฟ้า



การจัดสวนกระถาง บนพื้นที่โล่งแจ้งอย่างดาดฟ้า ควรเลือกใช้ไม้กระถางทรงสูงลดทอนความเวิ้งว้าง และจัดวางเป็นแนวแทนกำแพงเพื่อสร้างระนาบปิดล้อม เพิ่มความเป็นส่วนตัวและน่าเข้าไปใช้งาน บางครั้ง หากพื้นที่กว้างมาก อาจต้องหาวิธีพรางกระถางด้วยกระบะ เพื่อให้สวนกระถางดูเป็นกลุ่มก้อน ไม่ยิบย่อยและไม่กระจัดกระจาย ที่สำคัญคือเรื่องความร้อน ข้อจำกัดที่ทำให้สวนดาดฟ้ามักถูกทิ้งร้าง พื้นสวนดาดฟ้าจึงควรปูวัสดุที่ไม่เก็บความร้อน และเตรียมระบบระบายน้ำให้ดี เพื่อลดปัญหาน้ำซึมสู่ห้องด้านล่าง



ปลูกต้นอะไรดี



ขึ้นอยู่กับสภาพแสง ของมุมระเบียงนั้นๆ หากได้รับแดดไม่เต็มวันต้องเลือกใช้ต้นไม้ที่สามารถอยู่รอดได้ เช่น ไม้ทนร่ม ส่วนใหญ่เป็นไม้ใบชนิดต่างๆ อย่างเฟิน จั๋ง สาวน้อยประแป้ง หมากผู้หมากเมีย เดหลี หรือหน้าวัวใบ แต่หากระเบียงได้รับแดดเต็มๆ ก็ควรเลือกต้นที่ทนแดดได้ดี ระวังอย่าเลือกใช้ไม้ใบที่มีขนาดใบใหญ่เกินไปเพราะอาจถูกลมพัด ใบฉีกขาดได้ และไม่

Trick การจัดสวนกระถางให้ดูเป็นธรรมชาติ



วิธีง่ายๆที่จะทำให้สวนกระถางของคุณ ดูไม่ต่างจากสวนที่ปลูกลงดินเลย



1.พรางกระถางอย่างมีชั้นเชิง

* เลือกใช้กระถางเรียบๆสีเดียว อย่างกระถางดินเผา เพื่อพรางกระถางไม่ให้ดูเด่นสะดุดตา

* ก่อกระบะต้นไม้เพื่อพรางไม่ให้เห็นกระถาง หรืออาจใช้ไม้หมอนรถไฟ อิฐมอญ อิฐบล็อกประสาน หรืออิฐมวลเบามาวางเรียงเป็นขอบกระบะแบบชั่วคราว ซึ่งสะดวกต่อการปรับเปลี่ยนในอนาคต



2.สร้างระดับเลียนแบบธรรมชาติ

* จัดวางต้นไม้ให้มีความสูงลดหลั่นกัน ด้านหลังวางต้นสูง ส่วนด้านหน้าวางต้นเตี้ย ให้เหมือนสวนธรรมชาติ และสร้างมิติในการมอง แต่หากไม้กระถางที่มีอยู่มีความสูงใกล้เคียงกัน ก็อาจปรับระดับพื้นโดยหาก้อนอิฐหรือคว่ำกระถางเปล่าที่ไม่ใช้มาวางหนุนไม้ กระถางให้สูงขึ้นแทน นอกจากจะช่วยให้ต้นไม้มีความต่างระดับแล้ว ยังช่วยพรางไม่ให้เห็นกระถางต้นไม้ได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย

* เรียงไม้กระถางที่อยู่แถวหน้าชิดกับขอบทางเดินหรือขอบกระบะ ให้เอียงเล็กน้อย เพื่อช่วยให้กิ่ง ก้าน ใบ ยื่นล้ำออกมาจากแนวขอบอย่างเป็นธรรมชาติ



3.เลือกพรรณไม้ ให้มีความหลากหลาย

* ในพื้นที่เดียวกัน ควรมีทั้งไม้ทรงสูง ไม้ทรงพุ่มขนาดกลาง และไม้คลุมดิน เลียนแบบลักษณะสวนธรรมชาติที่มักมีชนิดและขนาดของต้นไม้ที่หลากหลาย



การปลูกพืช Hydroponics

ไฮโดรโปนิกส์ เป็นการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน นับเป็นวิธีการใหม่ในการปลูกพืช โดยเฉพาะการปลูกผักและพืชที่ใช้เป็นอาหาร เนื่องจากประหยัดพื้นที่ และไม่ปนเปื้อนกับสารเคมีต่างๆ ในดิน ทำให้ได้พืชผักที่สะอาดเป็นอาหาร ปัจจุบันนี้ในเทคนิคการปลูกพืชแบบไร้ดินหลายแบบด้วยกัน นี่คือหนึ่งในวิธีการปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์





1. การเตรียมพื้นที่และโต๊ะปลูก ประกอบโต๊ะปลูกและติดตั้งตามวิธีการประกอบชุดไฮโดรโปนิกส์ และนำโต๊ะปลูกมาวางในตำแหน่งที่ได้รับแสงแดดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง/วัน

2. พันธุ์และเมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ผักมี 2 ชนิดคือ

2.1 เคลือบดินเหนียว เนื่องจากเมล็ดผักมีขนาดเล็ก ทำให้เป็นอันตรายและสูญเสียได้ง่าย จึงมีการเคลือบเมล็ดด้วยดินเหนียว เมล็ดที่เคลือบจะมีอายุการเก็บรักษาสั้น เนื่องจากได้มีการกระตุ้นการงอกมาแล้ว แต่จะสะดวกสำหรับการใช้งาน

2.2 ไม่เคลือบ คือเมล็ดพันธุ์ปกติ

3. การเพาะต้นกล้า นำวัสดุปลูก เช่น เพอร์ไลท์ เวอร์มิคูไลท์ ใส่ถ้วยเพาะและนำเมล็ดผักใส่ตรงกลางถ้วย กลบเมล็ดและรดน้ำให้เปียกและเก็บไว้ในที่ปลอดภัย รดน้ำทุกวัน ประมาณ 3-5 วัน เมล็ดเริ่มงอก และเริ่มให้สารละลายอ่อนๆ แทนน้ำ

4. การปลูกบนราง ขนาด 1.5 เมตร

4.1 ตัวอย่างเติมน้ำ 10 ลิตร และเติมสารอาหาร A และ B อย่างละ 100 ซีซี หรือ 10 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร

4.2 นำต้นกล้าที่แข็งแรง อายุประมาณ 2 สัปดาห์ ย้ายมาวางบนโต๊ะปลูก และเดินเครื่องปั๊มน้ำ

5. การดูแลประจำวัน

5.1 รักษาระดับน้ำให้อยู่ในระดับควบคุมอยู่เสมอ เช่น 10 ลิตร

5.2 ควบคุมค่า EC อยู่ระหว่าง 1-1.8 โดยเครื่อง EC meter ปรับลดโดยการเพิ่มน้ำ และปรับค่า EC เพิ่มโดยการเพิ่มปุ๋ย กรณีไม่มีเครื่องวัดสามารถประมาณการเติมสารอาหาร A และ B ดังตาราง

5.3 ควบคุมค่า pH อยู่ระหว่าง 5.2-6.8 โดยเครื่อง pH meter หรือ pH Drop test ปรับลดโดยการกรดฟอสฟอริก หรือกรดไนตริก (pH down) และปรับค่า pH เพิ่มโดยการเติมโปตัสเซียมไฮดรอกไซด์ (pH up) ปริมาณ 2-3 หยด

6. การเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 45 วัน

Tips



* เมื่อซื้อต้นไม้มาใหม่ๆ ควรนำออกจากถุงดำหรือกระถาง วางพักในที่ร่มรำไร รดน้ำให้ชุ่ม แล้วทิ้งไว้ข้ามคืนก่อนปลูกลงกระถาง เพื่อช่วยให้ต้นไม้ตั้งตัวได้

* ก่อนปลูกต้นไม้ลงกระถาง อย่าลืมวางเศษกระถางแตก ใส่โฟมหักเป็นก้อนเล็กๆ อิฐมอญทุบ หรือถ่านอย่างใดอย่างหนึ่งที่ก้นกระถาง เพื่อให้ก้นกระถางโปร่ง ระบายน้ำได้ดี

* หากต้นไม้ที่ซื้อมามีตุ้มรากแน่นเกินไป ควรตัดแต่งรากเก่าทิ้งออกไปบ้าง เพื่อช่วยให้ตุ้มรากโปร่ง ระบายอากาศดี และยังช่วยกระตุ้นให้รากแตกแขนงออกมาใหม่ ทำให้ต้นไม้แข็งแรงสมบูรณ์ยิ่งขึ้น



* หมั่นสังเกตดูแลให้ดินอยู่ต่ำกว่าขอบกระถางในระดับพอดี หากดินสูงกว่าหรือเท่ากับขอบกระถางจะทำให้น้ำไหลล้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เวลารดน้ำต้นไม้ แต่หากดินต่ำกว่าขอบกระถางมากเกิน จะทำให้รากลอย เกิดความชื้นสะสม เป็นสาเหตุให้โคนต้นเน่าหรือติดโรคอันเนื่องมาจากเชื้อราได้

No comments:

Post a Comment